จำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการในกฎหมายบริษัทจำกัดของไทยเปรียบเทียบกับ
กฎหมายบริษัทของอังกฤษ
Minimum number of Promoter in Thai limited company law compared to British company law
บทคัดย่อ
บทความวิชาการเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเรื่องจำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการในกฎหมายบริษัทจำกัดของไทยเปรียบเทียบกับกฎหมายบริษัทของอังกฤษ โดย ใช้วิธีวิจัยเอกสาร จากการศึกษาพบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท เฉพาะหมวด 4 บริษัทจำกัด ในมาตรา 1097 ที่กำหนดจำนวนผู้เริ่มก่อการ(ที่ต้องกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย)ไว้ที่จำนวน 2 คนขึ้นไป มีผลกระทบต่อการพัฒนากฎหมายบริษัทของไทย เพราะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายบริษัทคนเดียวออกมาอีกฉบับเพื่อแก้ไขปัญหา และก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ประกอบการรายเดียวซึ่งจากการเปรียบเทียบกับกฎหมายบริษัทของอังกฤษ จากการศึกษาทำให้ได้ผลสรุป 2 ประเด็น คือ 1) ความเหมือนกันของกฎหมายบริษัทจำกัดของไทยกับกฎหมายบริษัทของอังกฤษคือมีความพยายามจากภาครัฐในการพัฒนากฎหมายเพื่อให้การจัดตั้งธุรกิจง่ายขึ้น กับ 2) ส่วนความแตกต่างระหว่างกฎหมายบริษัทจำกัดของไทยกับกฎหมายบริษัทของอังกฤษ คือ ผู้เริ่มก่อการที่ต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นชุดแรก กฎหมายบริษัทของไทยได้กำหนดจำนวนผู้เริ่มก่อการบริษัทที่จำนวนสองคนขึ้นไป ในขณะที่กฎหมายบริษัทของอังกฤษเป็นกฎหมายรวมการจัดตั้งบริษัทเอกชนจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัดเข้าไว้ในกฎหมายบริษัทฉบับเดียวกัน และใช้จำนวนผู้เริ่มก่อการที่เหมือนกันคือเพียงหนึ่งคนขึ้นหรือมากกว่านั้น
ข้อเสนอแนะ การที่กฎหมายบริษัทอังกฤษ กำหนดจำนวนผู้เริ่มก่อการหรือผู้ริเริ่มจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ 1 คน หรือมากกว่า 1 คนขึ้นไปจะทำให้การจัดตั้งบริษัทจำกัด กระทำได้สะดวกและง่ายขึ้น จึงเห็นควรพัฒนากฎหมายบริษัทของไทย โดยใช้กฎหมายบริษัทของอังกฤษเป็นกฎหมายต้นแบบ รวบรวมกฎหมายห้างหุ้นส่วน กฎหมายบริษัทจำกัดกับกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด อันรวมถึงร่างพระราชบัญญัติบริษัทคนเดียว เข้าไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน และต้องยกเลิกบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท เพื่อมิให้ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายสัญญาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้โดยใช้กฎหมายบริษัทอังกฤษเป็น กฎหมายต้นแบบ (model law) ในการร่าง