รัฐธรรมนูญไทยกับแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม

Thai Constitutions and the Constitutionalism

บทคัดย่อ

บทความนี้มาจากงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในต่างประเทศ รัฐธรรมนูญไทยที่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม และแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยทางเอกสาร ทั้งเอกสารภาษาไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตำรา หนังสือ บทความ วิทยานิพนธ์ รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายในขอบเขตการศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมอย่างชัดเจนหรือมีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมบางประการ จากการศึกษาพบว่า การนำแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมมาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอาจจะปรากฏอยู่มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับสภาพการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น โดยสามารถแบ่งพิจารณาออกได้เป็น รัฐธรรมนูญไทยที่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมบางประการ ซึ่งได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2489), (พ.ศ. 2492), (พ.ศ.2517) และรัฐธรรมนูญไทยที่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมอย่างเด่นชัด ซึ่งได้แก่ (พ.ศ. 2540) และ (พ.ศ.2550) นอกจากนั้นแล้ว ยังมีรัฐธรรมนูญบางฉบับที่มีข้อถกเถียงเรื่องแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม โดยมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญที่ผสมผสานความเป็นรัฐธรรมนูญนิยมและความไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยมเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2521), (พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2538) และ (พ.ศ.2560) อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะประกอบไปด้วยบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนมาตรการและกลไกในการจำกัดอำนาจรัฐไว้มากมายเพียงใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็มักปรากฏอยู่เสมอว่า บทบัญญัติที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ กลับไม่สามารถเกิดผลบังคับได้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหตุผลก็คงมาจากสภาวะที่รัฐธรรมนูญไม่มีความมั่นคง และไม่มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากการปฏิวัติรัฐประหาร การร่างรัฐธรรมนูญโดยมิได้คำนึงถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองเป็นตัวตั้ง เพื่อคิดค้นมาตรการและกลไกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกด้าน ดังนั้นถึงแม้จะพบว่าได้มีการนำแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทางการเมืองอาจจะไม่ได้เป็นไปตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม การที่รัฐธรรมนูญไทยกับแนวคิดรัฐธรรมนูญจะมีความสอดคล้องกันทั้งในตัวบทของรัฐธรรมนูญและในทางปฏิบัตินั้น จึงต้องเริ่มจากแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญ การคำนึงถึงสภาพปัญหาทางสังคมวิทยาการเมือง รวมถึงความรู้ความเข้าใจในระบบและกลไกลทางรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะสร้างสภาวะความมั่นคงให้กับรัฐธรรมนูญและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม