แนวทางการกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเป็นความผิดอันยอมความได้ตามกฎหมายไทย

Guidelines on Modifying Trademark-Related Offences to be Compoundable Offences under Thai Law

บทคัดย่อ

การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาแนวคิดและทฤษฎีของกฎหมายอาญาในการกำหนดโทษทางอาญาและความผิดอันยอมความได้ (2) ศึกษากฎหมายความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายไทย (3) ศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของประเทศไทย กับความตกลงทริปส์ และกฎหมายต่างประเทศ (4) นำผลการวิเคราะห์มาเป็นแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายไทย ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการวิจัยเอกสารจากบทบัญญัติกฎหมาย หนังสือ บทความ คำพิพากษาของศาล วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย เอกสารทางวิชาการ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความผิดอันยอมความได้และความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ และนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา ผลการวิจัยพบว่า (1) แนวคิดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แนวคิดในการกำหนดโทษทางอาญา หลักคุณธรรมทางกฎหมาย ทฤษฎีการเบี่ยงเบนคดีออกจาก กระบวนการยุติธรรม ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู หลักกฎหมายความผิดอันยอมความได้และความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า (2) ความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายไทย ไม่สอดคล้องกับหลักคุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ขัดกับเจตนารมณ์ของความตกลงทริปส์ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของเอกชนเป็นหลัก มิได้กำหนดปริมาณ ในเชิงพาณิชย์ และไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย (3) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหพันธรัฐมาเลเซีย มองว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดเล็กน้อยและมีโทษสถานเบา จึงคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยให้ยอมความในคดีอาญาได้ (4) ข้อเสนอแนะของงานวิจัย คือ การเพิ่มเติมบทบัญญัติกฎหมาย โดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เป็นความผิดที่ยอมความได้ เว้นแต่ เป็นการกระทำในระดับเชิงพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงให้ดำเนินคดีแก่ผู้นั้นได้