ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายในพื้นที่ทำกินอันเกิดจาก การกระทำของช้างป่า : กรณีศึกษาอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี

Proposal to Amend Laws Regarding to Compensation Payments for Damages to the Land Used to Cultivate Crops Caused by Wild Elephants: A Case Study of Kaeng Hang Maeo District, Chanthaburi Province

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายในพื้นที่ทำกินอันเกิดจากการกระทำของช้างป่า โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือวิจัย 2 รูปแบบ คือ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการวิจัยเชิงเอกสาร สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ประสบภัยพิบัติ (ช้างป่า) 25 คน เพื่อศึกษาสภาพปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายในพื้นที่ทำกินของประชาชนอันเกิดจากกระทำของช้างป่า: กรณีศึกษาอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วย เงินทดรองราชการเพื่อช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 และใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสารเพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องการจ่ายค่าชดเชย นำมาวิเคราะห์สภาพปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าทดแทนความเสียหายในพื้นที่ทำกินอันเกิดจากการกระทำของช้างป่า จากการศึกษา พบว่า ปัญหาการจ่ายค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของช้างป่าในปัจจุบัน เป็นการกำหนดอัตราที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประสบภัยพิบัติ (ช้างป่า) จะเห็นได้ว่าการจ่ายอัตราค่าทดแทนไม่เป็นตามราคามูลค่าที่แท้จริงของพืชและต้นไม้ที่เสียหายโดยสมควรที่คิดคำนวณต้นทุนการผลิตต้นไม้หรือพืชผล รวมถึงค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายกรณีพื้นที่ทำกิน โดยการกำหนดอัตรา ค่าทดแทน ให้พิจารณาเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนต้นไม้ของประกาศคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับการกำหนดและจ่ายค่าทดแทน พ.ศ. 2552 ข้อ 9 (บัญชีกลางราคาต้นไม้และพืช)