ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทย กับ ภาษีทรัพย์สินของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง:“ลด” หรือ “เพิ่ม” ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
Land and Buildings Tax of Thailand vs. Property Tax of Hong Kong:
“Reducing” or “Increasing” Economic Inequality
บทคัดย่อ
บริษัทไพรวอเตอร์เฮ้าคูเปอร์กับธนาคารโลกได้จัดอันดับฮ่องกงให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีระบบภาษีที่เป็นมิตรกับธุรกิจมากที่สุดในโลกใน พ.ศ. 2562 เนื่องจากฮ่องกงมีระบบภาษีที่เรียบง่าย โปร่งใส และไม่ซับซ้อน ทั้งยังเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ประมวลรัษฎากรของฮ่องกงกำหนดให้จัดเก็บภาษีทรัพย์สิน (property tax) ในฐานะที่เป็นภาษีเงินได้จากค่าเช่า (rental income tax) โดยภาษีทรัพย์สินของฮ่องกงคำนวณจากเงินได้ค่าเช่าพึงประเมินสุทธิในอัตราภาษี 15%
สำหรับประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ เป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ทันสมัย เสริมสร้างความเป็นธรรม กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน สนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทยจัดเก็บในฐานะที่เป็นภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) โดยใช้มูลค่าทรัพย์สินเป็นฐานในการคำนวณภาษี จึงอาจมีความกังวลถึงผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ บทความฉบับนี้ได้ศึกษาและเปรียบเทียบพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กับกฎหมายภาษีทรัพย์สินของฮ่องกงในหลายประเด็น ตลอดจนได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ของไทยและกฎหมายภาษีทรัพย์สินของฮ่องกงว่าในท้ายสุดจะเป็นการ “ลด” ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือจะก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์โดยเป็นการ “เพิ่ม” ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น