ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ “ซิมผี-บัญชีม้า” ภายใต้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
Remarks on Mule SIM Cards and Accounts underthe Royal Decree on Cyber Crime Prevention and Suppression B.E. 2566
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผิดกฎหมาย (ซึ่งเรียกว่า “ซิมผี”) และบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่
ผิดกฎหมาย (ซึ่งเรียกว่า “บัญชีม้า”) ภายใต้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ประการที่หนึ่ง มิจฉาชีพมักใช้ “ซิมผี-บัญชีม้า” ของบุคคลอื่น เพื่อหลอกลวงเหยื่อและปกปิดการกระทำความผิดของตน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผู้รับจ้างเปิดหรือยินยอมให้ใช้ “ซิมผี-บัญชีม้า” ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน การรับจ้างเปิดหรือยินยอมให้ใช้ “ซิมผี-บัญชีม้า” อาจเกิดขึ้นเพียงเพราะได้เงินจำนวนเล็กน้อย หรืออาจถูกข่มขู่ หลอกลวง หรือกระทำด้วยประการอื่นใด ดังนั้น การกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ
ไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก่บุคคลเหล่านี้ อาจรุนแรงเกินไปและไม่เหมาะสม และประการที่สอง พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ไม่ได้กำหนดความผิดทางอาญาแก่
(1) บุคคลผู้จ้างวาน ใช้ ข่มขู่ หลอกลวง หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลเปิดบัญชีม้าหรือยินยอมให้ใช้บัญชีม้า (2) บุคคลผู้ขอใช้ ขอยืม ข่มขู่ หลอกลวง หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลยินยอมให้ยืมหรือให้ใช้ซิมผีของตน และ (3) บุคคลผู้ซื้อหรือได้มาซึ่ง “ซิมผี-บัญชีม้า” จากตัวกลางผู้จัดหา เพื่อนำมาใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือกระทำความผิดทางอาญาอื่นใด ฉะนั้น บทความนี้ มีข้อเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยประการที่หนึ่ง ควรปรับลดอัตราโทษสำหรับผู้รับจ้างเปิดหรือยินยอมให้ใช้ “ซิมผี-บัญชีม้า” เหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประการที่สอง ควรกำหนดฐานความผิดทางอาญาสำหรับบุคคลสามประเภทดังกล่าวข้างต้น