ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราโทษกับการกระทำความผิด

The Relationship between Rate of Punishment and Offence

บทคัดย่อ

ในขณะที่นักนิติศาสตร์ได้ใช้ความเพียรพยายามที่จะกำหนดอัตราโทษให้มีความสัมพันธ์กับ การกระทำความผิด เพื่อให้การลงโทษเกิดความเป็นธรรมที่สุดนั้น แต่ปรากฏข้อเท็จจริงจากข้อมูลของ การกระทำความผิดในประเทศต่าง ๆ ว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้นั้นไม่มีความสัมพันธ์กับสัดส่วนการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นมากนัก งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า อัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวไม่อาจส่งผลให้สัดส่วนของการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด การเปลี่ยนแปลงอัตราโทษในกฎหมายอาญาของประเทศไทยก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกล่าวคือ แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษในประมวลกฎหมายอาญามาหลายครั้งก็ตาม แต่มิได้ทำให้จำนวนครั้งการกระทำความผิดที่ปรากฏลดลงอย่างถาวร ดังนั้นจึงน่าจะมีปัจจัยอื่นที่มีความสัมพันธ์กับจำนวนครั้งของการกระทำความผิดยิ่งกว่าอัตราโทษ ซึ่งผลของการวิจัยได้พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับ การกระทำความผิดเป็นอย่างมากนั้นคือ ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม สภาพเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและการศึกษา อย่างไรก็ดี จากการสำรวจความเห็นของบุคคลหลายอาชีพ โดยใช้แบบสอบถาม ปรากฏว่าร้อยละ 46.2 ยังมีความเชื่อว่าการเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้นจะทำให้จำนวนครั้งของการกระทำความผิดลดลงได้อย่างถาวร ทั้งนี้เพราะบุคคลส่วนใหญ่ขาดความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และทฤษฎีในการกำหนดอัตราโทษ รวมทั้งไม่ทราบถึงสถิติการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น อย่างถูกต้อง เมื่อตนเห็นว่าการกระทำความผิดยังมีจำนวนสูงขึ้นตลอดมา จึงเพ่งเล็งถึงอัตราโทษซึ่งเป็นสิ่งควบคู่กับการกระทำความผิดโดยตรงเป็นอันดับแรก งานวิจัยนี้จึงเสนอความเห็นว่า การลดจำนวนครั้งของการกระทำความผิดนั้น ไม่ควรเพ่งเล็งที่ การปรับอัตราโทษแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรปรับปรุงแก้ไขปัจจัยอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้วที่มีผลโดยตรงต่อจำนวนครั้งของการกระทำความผิดและควรจะให้บุคคลทั่วไปรู้ถึงหลักเกณฑ์ และการเปลี่ยนแปลงอัตราโทษตามกฎหมายด้วย