การกำหนดขอบเขตความรับผิดฐานทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ตามมาตรา 307 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไทย
Determination of criminal liability scope of the offense on abandonment of the person who is helpless under Thai Penal Code Section 307
บทคัดย่อ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) เป็นแนวทางที่นำไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมกันอันเป็นหลักกฏหมายสากลที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่มนุษย์ทุกคน ซึ่งสิทธิมนุษยชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติในความแตกต่าง ไม่ว่าจะด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ อายุ ศาสนา หรือแม้แต่ความพิการทางกายหรือความพิการทางจิตใจ เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้มีการบัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในมาตรา 4 โดยมีใจความสำคัญว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน นอกจากนี้ในมาตรา 27 ยังบัญญัติคุ้มครองความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ไม่ให้ถือว่ามาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองอำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและต้องคำนึงถึงสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรให้ได้รับการปกป้องตามมาตรา 48 เช่นกัน ทั้งนี้รัฐต้องให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและถือเป็นการคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงเพื่อเป็นการบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาตามมาตรา 71 วรรค 3 ด้วย จากที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความสำคัญมาก จึงต้องวางบทบัญญัติทางกฎหมายให้สอดคล้องเพื่อให้มนุษย์ทุกคนพึงได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในสังคมปัจจุบันพบว่าเกิดปัญหาการทอดทิ้งบุคคลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ โดยเหตุเพราะอายุ คนเจ็บป่วย คนพิการ แม้แต่สตรีมีครรภ์ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ พบว่าบทบัญญัติดังกล่าววางความรับผิดแก่ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฏหมายหรือตามสัญญาที่ต้องดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และกระทำการทอดทิ้งโดยเป็นเหตุน่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตเท่านั้น โดยไม่ได้มีบทบัญญัติใดที่สามารถเอาผิดบุคคลที่ทำการทอดทิ้งผู้ที่ต้องดูแลโดยอาศัยความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ต้องดูแลตามกฏหมายหรือตามสัญญานั้น รวมถึงกฎหมายอาญาในปัจจุบันไม่ได้มุ่งคุ้มครองถึงสตรีมีครรภ์รวมเข้าไปในบทบัญญัตินี้ ผู้เขียนเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวยังขาดความชัดเจนและไม่สามารถมุ่งคุ้มครองกลุ่มบุคคลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างครอบคลุม ทั้งที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ย่อมขาดความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองให้พ้นจากอันตรายได้ดังเช่นบุคคลปกติทั่วไป จึงเห็นได้ว่ากฎหมายไม่สามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมแก่กลุ่มบุคคลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ให้ได้รับความเป็นธรรมได้
ทั้งนี้ ผู้เขียนยังพบว่าหากเป็นการทอดทิ้งกลุ่มบุคคลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้แล้วเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจขึ้น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตหรือไม่ถึงกับได้รับอันตรายสาหัส ย่อมไม่สามารถเอาผิดแก่ผู้กระทำความผิดได้ ผู้เขียนจึงทำการศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเปรียบเทียบ วิเคราะห์หามาตรการที่เหมาะสมในการนำมาปรับบังคับใช้เพื่อให้สามารถคุ้มครองบุคคลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และเพื่อเป็นการป้องกันยับยั้งไม่ให้เกิดอาชญากรรมแก่บุคคลผู้ซึ่งพึ่งตนเองไม่ได้ที่อาจตกเป็นเหยื่อต่อไปในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่า จึงควรต้องมีการบัญญัติกฎหมายให้มีความชัดเจนแน่นอนเพื่อให้สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้