การพัฒนาและสร้างความเข็มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยกลไกและระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
Developing and strengthening the foundations of the community-based economy through intellectual property law mechanisms and systems
บทคัดย่อ
การพัฒนาและสร้างความเข็มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยกลไกและระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงบูรณาการองค์ความรู้ด้วยแนวคิดกฎหมายเพื่อการพัฒนาในการนำไปสู่การนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นที่ไม่สามารถยกระดับความสามารถในเชิงของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน การศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพึงพาตนเองได้ การศึกษาครั้งนี้มีกรอบแนวคิดในการศึกษาและวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนสาเหตุของปัญหาของความไม่สัมฤทธิ์ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
จากการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยกระบวนการศึกษาวิจัยบูรณาการทั้งการวิจัยในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณประกอบกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วยการจัดอบรมแบบมีส่วนร่วมเชิงปฏิบัติการด้วยสองกระบวนการ ดังนี้ กระบวนวิธีขั้นต้น การสร้างความตระหนักถึงสิทธิที่พึงมีของผู้ประกอบการ และกระบวนวิธีขั้นปลาย ด้วยการจัดอบรบเชิงปฏิบัติการให้ผู้ประกอบการให้สามารถทำการยื่นคำขอรับการรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องต่าง ๆ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา การศึกษาครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายี่สิบรายการ ดังนี้ งานอันมีลิขสิทธิ์หนึ่งราย อนุสิทธิบัตรสี่ราย ความลับทางการค้าสี่ราย เครื่องหมายการค้าสิบเอ็ดราย ในขณะที่การวิจัยครั้งนี้นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวนสามราย รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสัญญาแฟรนไชส์จำนวนหนึ่งราย
การศึกษาวิจัยครั้งนี้นำไปสู่ผลการศึกษาซึ่งมีทั้งข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายและเชิงนโยบาย โดยข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายได้แก่ การกำหนดคำนิยามในกฎหมายเรื่องระดับการสร้างสรรค์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ การออกกฎหมายลำดับรองเพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐควรทบทวนลดระดับการบังคับใช้กฎหมายที่มีระดับความเข้มงวดและเข้มข้นมากเกินไปให้ลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับมาตรฐานบางประการที่ไม่กระทบสาระสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยและการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการ ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้แก่ หน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต้องบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ควรทบทวนและกำหนดแผนในการพัฒนาในแผนกลยุทธ์ขององค์กรอย่างเร่งด่วน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่ผู้ประกอบการสามารถขอรับคำแนะนำและขอรับการสนับสนุนการพัฒนา นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังต้องกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ กำหนดกลยุทธ์และตัวชี้วัดการพัฒนาว่าต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าในด้านใด และประการที่สำคัญภาครัฐควรให้การสนับสนุนเงินทุนและการศึกษาวิจัยและพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการทำช่องทางการตลาดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม